ดนตรียุคสมัยโรแมนติคตอนปลาย (Late
Romantic)
ยุคสมัยของโรแมนติคตอนปลายได้เริ่มขึ้นราวปี ค.ศ. 1870 และสิ้นสุดลงราว
ค.ศ. 1920 เป็นเวลานานร่วมครึ่งศตวรรษเหมือนสมัยโรแมนติคตอนต้น
เป็นยุคสมัยที่ตรงกันข้ามกับยุคคลาสสิค เพราะดนตรีคลาสสิคเน้นที่รูปแบบลงตัวอันแน่นอนและความมีเหตุผลเกี่ยวข้องกัน
(formality and rationalism) ดนตรีโรแมนติคจะเน้นที่เนื้อหาและอารมณ์ (content
and emotionalism)
พื้นหลังทางประวัติศาสตร์ ศตวรรษที่ 19 เป็นศตวรรษแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม
มีความเจริญก้าวหน้าด้านสาธารณูปโภค การก่อสร้าง การสื่อสาร และการเดินทาง ( มีการผลิตเหล็กกล้า
ไฟฟ้า โทรเลข โทรศัพท์ การแพทย์ รถไฟ เรือกลไฟ ) ความก้าวหน้าเหล่านี้ขยายขอบเขตอุตสาหกรรม
ทำให้ระบบทุนนิยม (Capitalism) มีอิทธิพลสูงจนก่อให้เกิดความคิดต่อต้านโดยภายหลัง
และเกิดระบบใหม่คือ ระบบสังคมนิยม (Socialism) โดยคาร์ล มาร์กส์ เป็นผู้นำ ทางด้านศิลปะ
ความเคลื่อนไหวที่เด่นชัดสุดคือ อิมเพรสชันนิสม์ ในฝรั่งเศส ส่วนด้านวรรณกรรม มีวรรณกรรมโรแมนติคเกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งอังกฤษ
เยอรมัน ฝรั่งเศส และ สหรัฐ
ในยุคนี้เป็นช่วงเวลาของดนตรี 2 ลักษณะ คือ ภายใต้อิทธิพลลัทธิชาตินิยม
(Nationalism) และ ภายใต้อิทธิพลลัทธินิยมเยอรมัน (Germanism)
ดนตรีชาตินิยม เป็นบทเพลงของคีตกวีที่มีดนตรีประจำชาติ หรือดนตรีพื้นเมือง เรื่องราวต่างๆของท้องถิ่น
หรือความรู้สึกเกี่ยวกับประเทศชาติแฝงอยู่ อิทธิพลนี้ครอบคลุมดนตรีของยุโรปตลอดมาร่วม
3 ศตวรรษ ตั้งแต่ต้นสมัยบาโรค ราวๆ ค.ศ. 1600 จนถึงปลายสมัยโรแมนติคตอนต้น ราว
ค.ศ.1870 และต่อเนื่องลงมาถึงยุคโรแมนติคตอนปลาย กลุ่มคีตกวีแยกย้ายกันอยู่ตามกลุ่มประเทศต่างๆ
สเมทานาและดโวช้าค ชาวโบฮีเมียน, กรีก ชาวนอรเว, ซีเบเลียส ชาวฟินแลนด์, กลินคา
บาลาคิเรฟ มุสซอสสกี้ คอร์ซาคอฟ ชาวรัสเซีย, ชาบริเอและลาโล ชาวฝรั่งเศส, วอน วิลเลียมส์
ชาวอังกฤษ
ดนตรีกระแสหลักของเยอรมัน อิทธิพลดนตรีเยอรมันนั้น
ได้ก่อตัวขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วในดินแดนที่ใช้ภาษาเยอรมัน จนเป็นปึกแผ่นมั่นคง
ขอบเขตและที่มาที่ไปเป็นที่น่าภาคภูมิ แม้เวลาได้ผ่านไปนานจนคีตกวีชาติอื่นๆ ได้หันไปสร้างดนตรีชาตินิยม
แต่อิทธิพลของดนตรีเยอรมันก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง ด้วยลักษณะดนตรีที่มีพลังในบรรยากาศ
เข้มแข็งและอบอุ่นยืนหยัด ซึ่งก็เป็นบุคลิกของผู้คนและสภาพของภูมิทัศน์และวัฒนธรรม
ซึ่งโน้มน้าวให้ชนชาติอื่นเกิดความรู้สึกถึงแรงดึงดูด,พลังจูงใจ ในความรู้สึกอันเด่นชัด
ของบรรยากาศในอารมณ์ดนตรี ดนตรีสำนวนเยอรมันขึ้นอยู่กับกลุ่มคีตกวีและผู้อำนวยเพลงในออสเตรีย-เยอรมัน
เป็นผู้กำหนดทิศทาง
อิทธิพลของว้ากเน่อร์ได้เกิดเป็นแนวทางต่อคีตกวีคนอื่นๆ
เพราะความมโหฬารและมหัศจรรย์ในดนตรีที่ว้ากเน่อร์นำเสนอทำให้คีตกวีผู้อื่นเฝ้ามองด้วยความสนใจและเลื่อมใส
กลุ่มคีตกวีกลุ่มนี้ได้แก่ มาร์เล่อห์, สเตร้าซ์, บรุคเนอร์, แม็กซ์ รีเจอร์, และลิสท์เป็นต้น
ตั้งแต่ยุคโรแมนติคตอนต้นเป็นต้นมา คีตกวีในยุคนี้มีความคิดอันแสดงออกได้โดยอิสระ
ไม่จำเป็นต้องสร้างความงามตามแบบแผนวิธีการ เพราะไม่ต้องอยู่ในความอุปถัมภ์ของโบสถ์
เจ้านายและขุนนาง มีการแสดงคอนเสิร์ตและการแสดงตามห้องโถง โรงละคร โรงอุปรากร บ้านผู้ดี
บ้านศิลปิน เป็นสำคัญ ความสามารถเฉพาะตัว (virtuosity) ของนักดนตรีเป็นที่นิยมชมชอบเป็นพิเศษ
รวมทั้งการศึกษาดนตรีกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาดนตรีอดีตแบบเจาะลึก ทำให้เกิดวิชาใหม่ขึ้น
เรียกว่า ดุริยางควิทยา (musicology)
ในด้านลักษณะเด่นและลักษณะร่วมกับดนตรีคลาสสิคยุคอื่นๆ ดนตรีในยุคโรแมนติคตอนปลายถ่ายทอดวิธีสร้างสรรค์ผลงานและสไตล์จากยุคต้น
แต่ดัดแปลงและคลี่คลายในการประพันธ์ด้วยอารมณ์ จินตนาการ และ ความรู้สึกอันดื่มด่ำยิ่งกว่า
ใช้ลีลา (rhythm) แปลกใหม่และกว้างไกลอย่างมาก
จนถึงยุคศตวรรษที่ 20 การประพันธ์ดนตรีสไตล์ยุคโรแมนติคตอนปลายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่การแบ่งยุคสมัยเป็นช่วงๆ
ก็เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์
องค์ประกอบที่สำคัญของคำว่าโรแมนติคคือความสะเทือนอารมณ์
ซึ่งได้มาจากการใช้ครึ่งเสียง (semi-tone) สอดแทรกในวลี (phrase) ของเพลงอย่างมีเสน่ห์และบ่อยๆ
การใช้วิธีสับเปลี่ยนให้เครื่องดนตรีต่างๆในวงดุริยางค์แสดงสีสันของเสียง (tone
colour) ความดังเบาหรือความเข้ม (intensity) ของเสียงจะมีบทบาทมาก อาจจะใช้จำนวนเครื่องดนตรีสวนทางกับความดังเบาของเสียง
ทำนองของบทเพลงเป็นแนวที่เหมือนกับแนวร้อง (lyrical) ความยาวของประโยคก็เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่จำกัด
ลักษณะของ balancing phrase จะลดลง
การประสานเสียงด้วยการใช้โครงสร้างของคอร์ดและลำดับของการใช้คอร์ด มีเสรีภาพมากขึ้น
มีการใช้คอร์ด 7 และ 9 อย่างมีอิสระ การใช้คอร์ดที่กระด้าง (dischord) เพิ่มความคมแก่บทเพลง
และการย้ายบันไดเสียงแบบครึ่งเสียง (Chromatic Modulation) มีบทบาทสำคัญ พื้นผิว
(texture) ในยุคนี้ homophony ยังคงเป็นลักษณะเด่น ความเข้มข้นของเสียง (dynamics)
และ articulation ต่างๆ ได้รับการเน้นให้ชัดเจน ทั้งยังมีเทคนิคใหม่สำหรับแต่ละเครื่องดนตรีให้ปฎิบัติออกมาให้ได้เนื้อเสียงที่หลากหลาย
ความคิดและแรงบันดาลใจหลักของคีตกวีจะมาจากความซาบซึ้งและประทับใจในเนื้อหาของสภาพแวดล้อม
เหตุการณ์ และ ศิลปะทุกแขนง
การเปลี่ยนแปลงของวงออร์เครสตร้าในยุคนี้ มีการจัดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ถือเป็นขั้นตอนวิวัฒนาการช่วงสำคัญ ที่ทำให้ขนาดวงออร์เครสตร้านั้นใหญ่มากและมีการเพิ่มเครื่องเพื่อแนวเสียงที่หนาแน่น
มีทางเลือกในการจัดกลุ่มเครื่องดนตรีหลายแบบ สืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ความกว้างขวางทางอารมณ์ ขอบเขตของจินตนาการที่เวิ้งว้าง
ทำให้หละหลวมจากกฏเกณฑ์ ยืดหยุ่นออกไปจากสัดส่วน บางครั้งโครงร่างอันสมดุลย์จำเป็นต้องขยายออก
เพราะคีตกวีต้องการบรรยายเนื้อหาให้เสร็จสมบูรณ์ โดยถ้าสัดส่วนเพลงจะบิดเบือนไปบ้างก็ไม่เป็นไร
คุณสมบัติในการเลือกใช้องค์ประกอบและวัตถุดิบมีเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในยุคโรแมนติคตอนต้น
และเมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติในองค์ประกอบทางดนตรีที่ต่างไปจากยุคต้น สิ่งที่เห็นชัดเจนเป็นอันดับแรกนั้นคือ
ขนาดของความคิด (idea) ซึ่งใหญ่กว่า วัตถุดิบที่นำมาประกอบกัน ทั้งส่วนพื้นฐานดั้งเดิมและส่วนที่มีการแปรและกระจายออกไปใช้กรรมวิธีที่หลากหลายกว่า
และการมองภาพรวมของผลงานต้องพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด ตั้งใจเปิดใจกว่าเก่า เพื่อยอมรับถึงองค์ประกอบอันหลากหลายที่มารวมตัวกัน
มีกฏเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นได้อย่างมาก มาควบคุมไว้คร่าวๆ
ความสำคัญและบทบาทของ Chromatic harmony
Chromatic ในยุคแรกๆที่เริ่มเกิดขึ้น
มีสาเหตุจากความต้องการหนีออกจากขอบเขตและสำเนียงเสียงที่คุ้นหู การประสานที่ฟังเป็นระเบียบ
ออกมาแสวงหาพัฒนาต่อ ในปลายยุคคลาสสิค เบโธเฟ่นเป็นผู้ก้าวออกจากแนวคิดเดิมๆของการประสานเสียง
(ได้สะท้อนให้เห็นอยู่ในผลงานชิ้นเล็กใหญ่ทั้งหลาย เช่น Sonata และ Symphony ที่โน้มน้าวอารมณ์)
สำเนียงของ Chromatic เริ่มแฝงอยู่ตั้งแต่ยุคปลายของเบโธเฟ่นแต่นั้นมา
จากสมัยนั้น chromatic ได้ใช้ในในการดำเนินทำนอง ในลักษณะ sequence ของประโยค หรือ
ในการเปลี่ยนบันไดเสียงชั่วขณะ ในการขอยืม chord ของบันไดเสียง minor คู่ขนาน การเรียง
movement ที่นำท่อนช้าขึ้นมาก่อนเร็ว
จากยุคคลาสสิคถึงโรแมนติคตอนต้น คีตกวีหลายคนสร้างผลงานที่ยังอยู่ในกรอบล้อมของ
Structure และ Form แน่นอน แต่การเรียบเรียงภายในมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสูง
สิ่งที่เห็นเป็นตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงคือ ความคมชัดของจุดตัดหรือจุดเปลี่ยนโครง
Chord จะไม่เรียบง่ายเหมือนเก่า ความตรงไปตรงมาของการประสานเสียงที่ลดน้อยลง มักจะถูกสอดแทรกไว้ด้วยขั้นตอนและการพัฒนาแปรสภาพที่มากขึ้น
เสียงที่โยงใยสนับสนุนเชื่อมต่อกันอยู่ภายในทำให้พื้นผิวของดนตรี (texture) เปลี่ยนไป
ลูกจบ (cadence) ที่มีรูปแบบ น้ำหนัก และโอกาสใช้งานต่างๆกัน เมื่อผ่านเลยมาถึงยุคโรแมนติคตอนปลายคุณสมบัติต่างๆก็ขยายขอบเขตครอบคลุมมากขึ้น
ดนตรียุคนี้ก้าวเข้าไปสู่ช่วงที่มีความผันผวนคลุมเครือในบันไดเสียงอย่างมาก
ลักษณะการสอดประสานนั้นหนาแน่นกว่า และมีลักษณะกลบเกลื่อนศูนย์กลางและตัวหลักสำคัญในบันไดเสียง
เป็นต้นว่า tonic และ dominant จะปรากฏเฉพาะช่วงสำคัญและหายไปเป็นเวลานาน ,cadence
อาจจะเกิดเลื่อนลอยย้ายตำแหน่งบันไดเสียงไปเรื่อยๆ การใช้ chromatic chord, chromatic
sequence ที่เกิดขึ้นติดต่อกัน เป็นระยะทางยาว เป็นสัดส่วนที่ใช้เวลาดำเนินเพลงมาก
เมื่อเทียบกับยุคโรแมนติคตอนต้นซึ่ง chromatic ซึ่งเกิดขึ้นในยุคแรกจะยึดถือโครงสร้างของ
form, harmony และ chord progression ไว้ยืนพื้นมากกว่า
Chromatic ที่คีตกวีนำมาใช้ยุคโรแมนติคตอนปลายจะครอบคลุมอยู่แทบทุกส่วนของเนื้องาน โดยสัญชาตญาณในการนำมาใช้ใช้ ในหลายๆผลงาน ครึ่งหนึ่งของการจัดองค์ประกอบ เป็นการจัดเรียง sequence ที่สัมพันธ์กันเป็นขั้นครึ่งเสียง เป็น relative minor และ จัดวาง harmonic sequence ที่สัมพันธ์กันในระยะทางที่เป็น tritone การย้ายบันไดเสียงออกจากความจำเจด้วยการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบันไดเสียงที่อยู่ห่างไกลกันมากขึ้น คือเป็นบันไดเสียงที่เป็นญาติของญาติกันหลายชั้น
หลายครั้งที่วางบันไดเสียงที่หักมุมกันมาไว้ใกล้กัน
หรือการเปลี่ยนอย่างฉับพลัน (abrupt switch) เช่นจาก C major สู่ E major ในช่วงแรกของอุปรากร
Don Juan ของริชาร์ดสเตร้าซ์ มีการ modulation ที่ผันผวนระยะทางสั้นๆ ภายใต้จุดยืนพื้นบางอย่าง
เช่น การเปลี่ยนจาก G minor สู่ D minor โดยมี chord G flat major เล่นคลุมไว้
อีกทั้งการรวมสองบันไดเสียงเข้าไว้ด้วยกัน (polytonal)
ซึ่งบางชุดเป็นบันไดเสียงที่ไม่น่าจะเข้ากันได้เพราะห่างไกลกันในความสัมพันธ์ ซึ่งดูได้จากตัวสะกดชุดโน้ตที่ใช้เป็นสมาชิก
สะกดไม่ซ้ำกันเกือบทุกๆตัว เช่น การใช้บันไดเสียง A major และ E-flat minor ร่วมกันใน
Elektra ของ Strauss ซึ่งเป็นการใช้ตัวสะกดโน้ตที่ห่างไกลกันและเป็นการใช้องค์ประกอบร่วมกันของบันไดเสียงทางทั้งฝั่ง
major และ minor ซึ่งถือเป็น Parallel key modulation ของไปยังบันไดเสียงเครือญาติต่างๆ
และการคาดเดาทิศทางแนวโน้มเกี่ยวกับการพัฒนาและคลี่คลายไปของเสียง ผู้ฟังจะติดตามได้อย่างมีรสชาติ
เนื่องมาจากมีความหลากหลายและมีทางเลือกให้ไปมากเพราะการใช้ chord diminished seventh
ซึ่งมีลักษณะกลวง ไม่หยุดนิ่ง พร้อมจะเกลาต่อไป ความสัมพันธ์ของเสียงที่เดินกันเป็น
tritone ระหว่างสมาชิกคอร์ด สร้างความรู้สึกไร้แรงโน้มถ่วง ไม่มีทิศทางและจุดพัก
นอกจากนี้ดนตรีในยุคนี้ อิทธิพลและความแพร่หลายในการใช้ chromatic chord คีตกวียังนิยมใช้และ
Mediant และ Submediant chord ซึ่งรากฐานของมันนั้นอยู่บนสมาชิกใน
scale ขั้นที่ 3 และ 6 ซึ่งไปขอยืมสมาชิกบางตัวของบันไดเสียง minor มา chord ทั้ง
2 นี้ให้คุณภาพที่ต่างไปจาก chord 1,4 และ 5 เพราะ chord ตำแหน่งพื้นต้นที่ใช้กันมากในยุคคลาสสิค
(chord พื้นต้น 1,4,5 จะให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับ tonic มากกว่า และง่ายกับการจัดการงานเพลงให้เป็นบทๆ
เป็นส่วนๆ เพราะ chord หลักๆเหล่านั้นสร้างแรงโน้มถ่วงและความตึงตัว (tension)
สูงกว่า ) คุณภาพที่เราจะได้รับฟังสำหรับ mediant และ submediant chord คือ สีสันของ
minor mode ที่เกิดตัดกับความเป็น Major
และสำหรับ chromatic mediant และ chromatic submediant คือ สีสันคู่ขนานของ mediant
และ submediant chord ที่มีมาเพื่อเพิ่มความหลากหลาย chord chromatic 2 คู่หลัง
(Mutated chords) ดูเหมือนจะช่วยย้ายความรู้สึกให้ไปอยู่อีกฟากหนึ่งของบันไดเสียงพื้นฐาน
ในส่วนประกอบที่เราเห็นเป็น function ของหน้าที่ในแต่ละประเภทโน้ต มีการใช้ suspension
,passing notes และ anticipation note ที่ควบซ้อนร่วมกัน เกิดขึ้นพร้อมๆกันและคาบเกี่ยวกันซับซ้อน
โดยมากจะเป็นเรื่องเสียงที่เกิดขึ้นซ้อนเหลื่อม chord กระด้างที่เกิดขึ้นและยังไม่ได้เกลาหรือไม่ได้มีการเกลาลงในตอนท้ายและจบลงเลย
(unresolved dissonances)
ในกฏเกณฑ์เดิมๆ ของการเปลี่ยน chord ความชัดเจนจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่กระบวนการเปลี่ยน
( progression ) ดำเนินไป โดยในยุคคลาสสิคการเข้าสู่ chord ใหม่จะลงตรงตัว มีทางเลือกไม่มากเหมือนยุคนี้และสามารถคาดเดาแนวโน้มของชุดคอร์ดต่อไปได้
รวมทั้งกะประมาณระยะทางที่จะได้ยินอยู่ในบันไดเสียงนั้นๆ โดยเฉพาะในจุดสำคัญของการเชื่อมต่อและจบประโยค
แต่ดนตรียุคโรแมนติคตอนปลายสัดส่วนและวิถีจะขึ้นกับอารมณ์และแรงบันดาลใจ ไม่ใช่ตรรกะเหตุผล
ไม่ใช่เดินบนทางเลือกของความเป็นไปได้แห่งกฏเกณฑ์
กล่าวโดยสรุปคือ chromatic ในดนตรี tonal มีรากฐานตั้งอยู่บน chromatic scale ซึ่งขยายขอบเขตในการสอดประสานออกไป
มากกว่าในยุคที่ผ่านมา ( คือยุคของ diatonic tonal )
ลักษณะรูปแบบของ chromatic tonal harmony มีดังต่อไปนี้
1. Chromatic mediant relationship
2. Direct Modulations
3. Tritone relationships
4. Real sequences
5. Brief tonicizations
6. Suspended tonality
7. Enharmonicism
8. Parallel voice leading
9. Diminisded-7th chords
10. Nonfunctional chord successions
11. Voice-leading chords
12. Augmented triads
13. Unresolved dissonances
14. Equal division of the octave
15. Nonfunctional bass lines
16 Unclear distinction between chord tones and embellishments
ลักษณะของบทประพันธ์ดนตรีในยุคโรแมนติคตอนปลาย
ประเภทของผลงาน (form) ในยุคโรแมนติคตอนปลายนี้ มีโครงสร้างที่กว้างและอิสระมากกว่า
คีตกวีแต่ละคนจะมีรูปแบบและเส้นทางเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และมักพัฒนาไปจนถึงจุดสมบูรณ์ของความอิ่มตัวในเนื้อหาอารมณ์
ซิมโฟนี (symphony)ได้รับการพัฒนาถึงจุดสูงสุด และมีอิสระ
จนดูเหมือนกับว่าหากใครต้องการแสดงความคิดจินตนาการเพ้อฝันอย่างใดก็ใส่เข้ามาใน
form นี้ได้หมด
ซิมโฟนิค โพเอ็ม (symphonic poem) เป็นรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น
เป็นผลงานที่มีเรื่องราวหรือศิลปะประเภทอื่นรองรับอยู่เบื้องหลังเนื้อหา
- ในรูปลักษณะที่เกี่ยวกับปรัชญา (philosophical) ตั้งอยู่ในขอบเขตของตัวความคิดและอารมณ์โดยพื้นฐาน
เช่น ผลงาน Les Prelude ของลิสท์และบทอื่นๆส่วนใหญ่ของลิสท์
- ในรูปลักษณะการบรรยายเรื่องราว (Descriptive) ประเภทนี้แบร์ลิโอซได้เขียนออกมาหลายบท
โดยรวมแล้วรูปแบบของทั้งสองลักษณะไม่ต่างกันอย่างเด็ดขาด
โอเปร่า (0pera) ซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่แล้วได้รับการเปลี่ยนแปลงไปสู่
music drama เพราะช่องว่างระหว่างรูปแบบของโอเปร่าและรูปแบบซิมโฟนีได้ขยายห่างออกจากกันมาก
จึงมีผู้ผสานเข้ามาเป็น form นี้ซึ่งผนวกเอาศิลปะทุกแขนงไว้ด้วยกัน